วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

มหัศจรรย์ของพลังดนตรี




เสียงของดนตรีถือกำเนิดเป็นครั้งแรกในโลกนี้เมื่อใดไม่มีใครทราบชัดเจน แต่เท่าที่มีการบันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับดนตรีนั้น มีความเชื่อกันว่าดนตรีเป็นสิ่งที่ถือกำเนิดมาพร้อมกับเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ เลยทีเดียว โดยจากหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบเครื่องดนตรีโบราณประเภทเครื่องตีคือระนาด หินในหลายประเทศด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีการขุดค้นพบขลุ่ยที่ทำจากกระดูกสัตว์อีกด้วย
เสียงดนตรีมีจุดกำเนิดมาจากการสร้างเสียงด้วยการ 1) ดีด คือการใช้นิ้วหรือวัตถุใดๆเขี่ยสายที่ทำมาจากหนังสัตว์ขึงให้ตึง 2) สี คือการใช้วัตถุสองชนิดมาเสียดสีหรือถูกัน 3) ตี คือการใช้วัตถุสองชนิดมากระทบกัน และ 4) เป่า คือการใช้แรงดันจากลม เมื่อสร้างเสียงออกมาไม่ว่าจะด้วยการดีด สี ตีหรือเป่าแล้วมีการผสมผสานเสียงเหล่านั้นก็เกิดเป็นท่วงทำนองดนตรีที่ ไพเราะต่าง ๆ มากมาย นำมาใช้เพื่อสร้างความสุขในอารมณ์ให้แก่ผู้ที่ได้ฟังเสียงดนตรีนั้น
          คงไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่า ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งที่ผูกพันกับชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนละจากโลกนี้ไป ชีวิตประจำวันของเรานั้นแม้ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับด้านดนตรีแต่ก็ต้องมี กิจกรรมอะไรสักอย่างที่หนีไม่พ้นจากดนตรีเป็นแน่ เวลานั่งรถก็อาจเปิดเพลงฟังจากวิทยุ เสียงเรียกเข้าโทรศัพท์มือถือที่ผู้ใช้เลือกเสียงเพลงเรียกเข้าตามใจชอบ ละครที่เราดูก็มีเพลงประกอบทั้งต้นเรื่อง ระหว่างเรื่องจนจบเรื่อง โฆษณาบนรถไฟฟ้า เสียงเพลงที่แม่ค้าเปิดในตลาดเพื่อเรียกลูกค้า แม้กระทั่งเสียงฮัมเพลงของคนใกล้ตัว เรียกว่าชีวิตนี้ไม่มีใครหนีดนตรีได้พ้น และเพราะดนตรีมีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์นี้เอง จึงมีการนำดนตรีมาใช้ประโยชน์ในงานด้านต่าง ๆ มากมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่งานต่าง ๆ นั้น โดยในปัจจุบันได้มีการนำดนตรีเข้ามาใช้ประโยชน์มากมายในหลายวงการ ดังนี้


   1. ด้านจิตเวช นักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดได้นำเสียงดนตรีเข้ามารักษาคนที่มีปัญหาทางจิต ต่าง ๆ เช่น คนที่เป็นโรคเครียดหรือโรคซึมเศร้า สามารถบำบัดได้ด้วยเสียงดนตรีที่มีจังหวะและทำนองร่าเริงสดใส นอกจากนี้ ดนตรีที่มีจังหวะและทำนองช้า ๆ ที่ฟังสบาย ๆ ยังช่วยลดพฤติกรรมของคนที่มีความก้าวร้าว ใจร้อน อารมณ์รุนแรง ให้มีจิตใจสงบเยือกเย็นลงได้ด้วย ปัจจุบันได้มี “โครงการคืนคนดีสู่สังคม” โดยการนำดนตรีเข้าไปใช้เป็นกิจกรรมของคนที่อยู่ในเรือนจำ โดยการฝึกให้คนในเรือนจำร้องเพลงประสานเสียง ฝึกให้เล่นดนตรี เพราะดนตรีช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้ผู้ต้องขังจิตใจสบาย ผ่อนคลายความเครียด มองโลกด้วยความสวยงาม อีกทั้งเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และช่วยให้ผู้ต้องขังมีความรู้และ ความสามารถทางด้านดนตรีที่เมื่อพ้นโทษออกไปแล้วยังสามารถนำความสามารถทาง ด้านดนตรีไปใช้ในการประกอบอาชีพได้อีกด้วย

     2. ด้านการศึกษา นักการศึกษาต่างมีความเห็นตรงกันว่าดนตรีสามารถพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ได้ จริง โดยมีผลการวิจัยมากมายที่ยืนยันว่า ดนตรีสามารถพัฒนาสมองของเด็กได้ดีผ่านทางเสียงดนตรี เช่น การให้ฟังเสียงดนตรีที่มีเสียงที่มีความถี่สูงอย่างจะเข้ ขิม ไวโอลิน เปียโน จะไปกระตุ้นสมองในส่วนของความจำและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้ดี นอกจากนี้ การให้เด็กได้เล่นเครื่องดนตรี ยังช่วยพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเอง อีกทั้งช่วยพัฒนาสติปัญญาของเด็กโดยตรงจากการเคลื่อนไหวตามจังหวะดนตรี และการอ่านโน้ตดนตรีซึ่งช่วยพัฒนาในเรื่องของความจำและในเรื่องของ คณิตศาสตร์ได้โดยตรง
จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย UCLA โดย Catterall (1997) ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีกับการเรียนวิชาต่างๆ โดยทดลองจากกลุ่มเด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ถึงปีที่ 6 ซึ่งได้มีการแบ่งนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ได้เรียนดนตรี กับกลุ่มที่ไม่ได้เรียนดนตรี ผลการวิจัยปรากฏว่าเด็กกลุ่มที่เรียนดนตรีมีคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ วิชาประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วิชาการอ่านสูงขึ้นและในวิชาสังคมศาสตร์มีระดับคะแนนเฉลี่ยที่สูงขึ้น 40% หรือจากงานวิจัยของFrankenberger (1997) ที่ได้วิจัยศึกษาถึงผลของการใช้ดนตรีร่วมกับการฝึกอบรมแบบผ่อนคลายกับเด็ก ที่มีการเรียนรู้ช้าและมีความก้าวร้าว พบว่า การใช้ดนตรีร่วมกับการฝึกอบรมผ่อนคลายช่วยทำให้เด็กมีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น และมีความก้าวร้าวทางอารมณ์ลดลง

     3. ด้านการแพทย์ ในปัจจุบันวงการแพทย์ได้นำดนตรีมาใช้ในการบำบัดรักษาโรค (Music Therapy) อย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยทางการแพทย์มีความเห็นตรงกันว่าเสียงของดนตรีมีผลต่อระบบและจังหวะของทาง เดินหายใจ การเต้นของหัวใจและความดันของโลหิต การให้คนป่วยฟังเพลงที่มีความถี่ของเสียงต่ำ เช่น เสียงแซกโซโฟน เสียงขลุ่ยหรือปี่ จะช่วยทำให้ผู้ป่วยเกิดความสงบและลดอาการความเจ็บปวดทรมานของโรคต่าง ๆ ได้
     จากงานวิจัยของ Beck (1991) ได้ศึกษาถึงผลของดนตรีที่ผู้ป่วยชอบต่อระดับความปวดในผู้ป่วยมะเร็ง โดยให้กลุ่มตัวอย่างเลือกฟังเพลงที่ชอบประเภทผ่อนคลาย 7 ชนิด เช่น เพลงคลาสสิกหรือเพลงแจ๊ส โดยให้ฟังวันละ 2 ครั้ง ๆ ละ45นาที เป็นเวลา 3 วัน พบว่าความรู้สึกเจ็บปวดของผู้ป่วยมะเร็งลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ปัจจุบันเราจึงมักจะเห็นตามโรงพยาบาลต่าง ๆ นำดนตรีมาใช้กับผู้ป่วยตั้งแต่รอพบแพทย์จนถึงขั้นตอนการรักษาเลยทีเดียว

     4. ด้านศาสนา หลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกว่าในปีค.ศ.1100 มีการใช้ออร์แกน (organ) เป็นหลักในการบรรเลงดนตรีประกอบพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์ โดยมีความเชื่อว่าดนตรีและเพลงทางศาสนาสามารถช่วยเล้าโลมจิตใจและให้กำลังใจ ได้ อีกทั้งยังเป็นสื่อกลางในการนมัสการพระเจ้าอีกด้วย นอกจากนี้บทสวดต่างๆในพุทธศาสนาก็มีระดับเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ที่เมื่อตั้งใจฟังแล้วจะพบว่ามีระดับเสียงคล้ายเสียงดนตรี ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้เกิดสมาธิและความสงบในจิตใจได้เป็นอย่างดี
     ดนตรีเป็นสื่อมหัศจรรย์ที่มีผลต่อ ร่างกาย สมอง ความคิด จิตใจและอารมณ์ของมนุษย์ ทำให้รู้สึกมีความสุขก็ได้ ทำให้หดหู่สิ้นหวังก็ได้ ช่วยให้เกิดการพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ ก็ได้ สามารถเติมเรี่ยวแรงพลังใจในการดำเนินชีวิตก็ได้ อยู่ที่ว่าเราจะเลือกนำดนตรีไปใช้ในทางไหนต่างหาก ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักดนตรีคนหนึ่ง อยากให้ดนตรีช่วยให้ทุกคนมีความสุขและมีความหวังในชีวิต เมื่อท้อแท้ให้ดนตรีช่วยปลอบประโลมใจ เมื่อรู้สึกขุ่นมัวใช้ดนตรีเป็นเครื่องผ่อนคลายอารมณ์ เมื่อมีความสุขใช้ดนตรีสร้างรอยยิ้มให้กว้างขึ้น นั่นแหละคือการใช้ดนตรีให้มีประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

1 ความคิดเห็น :

  1. ไม่ระบุชื่อ31 มกราคม 2565 เวลา 06:22

    Baccarat | Evolution of the Game | FEBCasino
    Evolution Gaming 1xbet has launched a brand new game for online casino gaming 바카라 사이트 called Baccarat 메리트 카지노 쿠폰 to compete in the Evolution Gaming casino.

    ตอบลบ