วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

มหัศจรรย์ของพลังดนตรี




เสียงของดนตรีถือกำเนิดเป็นครั้งแรกในโลกนี้เมื่อใดไม่มีใครทราบชัดเจน แต่เท่าที่มีการบันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับดนตรีนั้น มีความเชื่อกันว่าดนตรีเป็นสิ่งที่ถือกำเนิดมาพร้อมกับเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ เลยทีเดียว โดยจากหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบเครื่องดนตรีโบราณประเภทเครื่องตีคือระนาด หินในหลายประเทศด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีการขุดค้นพบขลุ่ยที่ทำจากกระดูกสัตว์อีกด้วย
เสียงดนตรีมีจุดกำเนิดมาจากการสร้างเสียงด้วยการ 1) ดีด คือการใช้นิ้วหรือวัตถุใดๆเขี่ยสายที่ทำมาจากหนังสัตว์ขึงให้ตึง 2) สี คือการใช้วัตถุสองชนิดมาเสียดสีหรือถูกัน 3) ตี คือการใช้วัตถุสองชนิดมากระทบกัน และ 4) เป่า คือการใช้แรงดันจากลม เมื่อสร้างเสียงออกมาไม่ว่าจะด้วยการดีด สี ตีหรือเป่าแล้วมีการผสมผสานเสียงเหล่านั้นก็เกิดเป็นท่วงทำนองดนตรีที่ ไพเราะต่าง ๆ มากมาย นำมาใช้เพื่อสร้างความสุขในอารมณ์ให้แก่ผู้ที่ได้ฟังเสียงดนตรีนั้น
          คงไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่า ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งที่ผูกพันกับชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนละจากโลกนี้ไป ชีวิตประจำวันของเรานั้นแม้ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับด้านดนตรีแต่ก็ต้องมี กิจกรรมอะไรสักอย่างที่หนีไม่พ้นจากดนตรีเป็นแน่ เวลานั่งรถก็อาจเปิดเพลงฟังจากวิทยุ เสียงเรียกเข้าโทรศัพท์มือถือที่ผู้ใช้เลือกเสียงเพลงเรียกเข้าตามใจชอบ ละครที่เราดูก็มีเพลงประกอบทั้งต้นเรื่อง ระหว่างเรื่องจนจบเรื่อง โฆษณาบนรถไฟฟ้า เสียงเพลงที่แม่ค้าเปิดในตลาดเพื่อเรียกลูกค้า แม้กระทั่งเสียงฮัมเพลงของคนใกล้ตัว เรียกว่าชีวิตนี้ไม่มีใครหนีดนตรีได้พ้น และเพราะดนตรีมีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์นี้เอง จึงมีการนำดนตรีมาใช้ประโยชน์ในงานด้านต่าง ๆ มากมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่งานต่าง ๆ นั้น โดยในปัจจุบันได้มีการนำดนตรีเข้ามาใช้ประโยชน์มากมายในหลายวงการ ดังนี้


   1. ด้านจิตเวช นักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดได้นำเสียงดนตรีเข้ามารักษาคนที่มีปัญหาทางจิต ต่าง ๆ เช่น คนที่เป็นโรคเครียดหรือโรคซึมเศร้า สามารถบำบัดได้ด้วยเสียงดนตรีที่มีจังหวะและทำนองร่าเริงสดใส นอกจากนี้ ดนตรีที่มีจังหวะและทำนองช้า ๆ ที่ฟังสบาย ๆ ยังช่วยลดพฤติกรรมของคนที่มีความก้าวร้าว ใจร้อน อารมณ์รุนแรง ให้มีจิตใจสงบเยือกเย็นลงได้ด้วย ปัจจุบันได้มี “โครงการคืนคนดีสู่สังคม” โดยการนำดนตรีเข้าไปใช้เป็นกิจกรรมของคนที่อยู่ในเรือนจำ โดยการฝึกให้คนในเรือนจำร้องเพลงประสานเสียง ฝึกให้เล่นดนตรี เพราะดนตรีช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้ผู้ต้องขังจิตใจสบาย ผ่อนคลายความเครียด มองโลกด้วยความสวยงาม อีกทั้งเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และช่วยให้ผู้ต้องขังมีความรู้และ ความสามารถทางด้านดนตรีที่เมื่อพ้นโทษออกไปแล้วยังสามารถนำความสามารถทาง ด้านดนตรีไปใช้ในการประกอบอาชีพได้อีกด้วย

     2. ด้านการศึกษา นักการศึกษาต่างมีความเห็นตรงกันว่าดนตรีสามารถพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ได้ จริง โดยมีผลการวิจัยมากมายที่ยืนยันว่า ดนตรีสามารถพัฒนาสมองของเด็กได้ดีผ่านทางเสียงดนตรี เช่น การให้ฟังเสียงดนตรีที่มีเสียงที่มีความถี่สูงอย่างจะเข้ ขิม ไวโอลิน เปียโน จะไปกระตุ้นสมองในส่วนของความจำและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้ดี นอกจากนี้ การให้เด็กได้เล่นเครื่องดนตรี ยังช่วยพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเอง อีกทั้งช่วยพัฒนาสติปัญญาของเด็กโดยตรงจากการเคลื่อนไหวตามจังหวะดนตรี และการอ่านโน้ตดนตรีซึ่งช่วยพัฒนาในเรื่องของความจำและในเรื่องของ คณิตศาสตร์ได้โดยตรง
จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย UCLA โดย Catterall (1997) ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีกับการเรียนวิชาต่างๆ โดยทดลองจากกลุ่มเด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ถึงปีที่ 6 ซึ่งได้มีการแบ่งนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ได้เรียนดนตรี กับกลุ่มที่ไม่ได้เรียนดนตรี ผลการวิจัยปรากฏว่าเด็กกลุ่มที่เรียนดนตรีมีคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ วิชาประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วิชาการอ่านสูงขึ้นและในวิชาสังคมศาสตร์มีระดับคะแนนเฉลี่ยที่สูงขึ้น 40% หรือจากงานวิจัยของFrankenberger (1997) ที่ได้วิจัยศึกษาถึงผลของการใช้ดนตรีร่วมกับการฝึกอบรมแบบผ่อนคลายกับเด็ก ที่มีการเรียนรู้ช้าและมีความก้าวร้าว พบว่า การใช้ดนตรีร่วมกับการฝึกอบรมผ่อนคลายช่วยทำให้เด็กมีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น และมีความก้าวร้าวทางอารมณ์ลดลง

     3. ด้านการแพทย์ ในปัจจุบันวงการแพทย์ได้นำดนตรีมาใช้ในการบำบัดรักษาโรค (Music Therapy) อย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยทางการแพทย์มีความเห็นตรงกันว่าเสียงของดนตรีมีผลต่อระบบและจังหวะของทาง เดินหายใจ การเต้นของหัวใจและความดันของโลหิต การให้คนป่วยฟังเพลงที่มีความถี่ของเสียงต่ำ เช่น เสียงแซกโซโฟน เสียงขลุ่ยหรือปี่ จะช่วยทำให้ผู้ป่วยเกิดความสงบและลดอาการความเจ็บปวดทรมานของโรคต่าง ๆ ได้
     จากงานวิจัยของ Beck (1991) ได้ศึกษาถึงผลของดนตรีที่ผู้ป่วยชอบต่อระดับความปวดในผู้ป่วยมะเร็ง โดยให้กลุ่มตัวอย่างเลือกฟังเพลงที่ชอบประเภทผ่อนคลาย 7 ชนิด เช่น เพลงคลาสสิกหรือเพลงแจ๊ส โดยให้ฟังวันละ 2 ครั้ง ๆ ละ45นาที เป็นเวลา 3 วัน พบว่าความรู้สึกเจ็บปวดของผู้ป่วยมะเร็งลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ปัจจุบันเราจึงมักจะเห็นตามโรงพยาบาลต่าง ๆ นำดนตรีมาใช้กับผู้ป่วยตั้งแต่รอพบแพทย์จนถึงขั้นตอนการรักษาเลยทีเดียว

     4. ด้านศาสนา หลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกว่าในปีค.ศ.1100 มีการใช้ออร์แกน (organ) เป็นหลักในการบรรเลงดนตรีประกอบพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์ โดยมีความเชื่อว่าดนตรีและเพลงทางศาสนาสามารถช่วยเล้าโลมจิตใจและให้กำลังใจ ได้ อีกทั้งยังเป็นสื่อกลางในการนมัสการพระเจ้าอีกด้วย นอกจากนี้บทสวดต่างๆในพุทธศาสนาก็มีระดับเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ที่เมื่อตั้งใจฟังแล้วจะพบว่ามีระดับเสียงคล้ายเสียงดนตรี ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้เกิดสมาธิและความสงบในจิตใจได้เป็นอย่างดี
     ดนตรีเป็นสื่อมหัศจรรย์ที่มีผลต่อ ร่างกาย สมอง ความคิด จิตใจและอารมณ์ของมนุษย์ ทำให้รู้สึกมีความสุขก็ได้ ทำให้หดหู่สิ้นหวังก็ได้ ช่วยให้เกิดการพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ ก็ได้ สามารถเติมเรี่ยวแรงพลังใจในการดำเนินชีวิตก็ได้ อยู่ที่ว่าเราจะเลือกนำดนตรีไปใช้ในทางไหนต่างหาก ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักดนตรีคนหนึ่ง อยากให้ดนตรีช่วยให้ทุกคนมีความสุขและมีความหวังในชีวิต เมื่อท้อแท้ให้ดนตรีช่วยปลอบประโลมใจ เมื่อรู้สึกขุ่นมัวใช้ดนตรีเป็นเครื่องผ่อนคลายอารมณ์ เมื่อมีความสุขใช้ดนตรีสร้างรอยยิ้มให้กว้างขึ้น นั่นแหละคือการใช้ดนตรีให้มีประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

การประกอบอาชีพดนตรีและแนะแนวการเรียนดนตรี โดย อุเทน อินทโร


การประกอบอาชีพดนตรีและแนะแนวการเรียนดนตรี โดย อุเทน อินทโร







1. การประกอบอาชีพดนตรี
1.1. อาชีพดนตรี
• ใช้วุฒิการศึกษาเป็นหลัก (เหมาะสำหรับผู้ที่เรียนดนตรีในระบบ) ส่วนใหญ่จะเป็นอาชีพทางด้านการศึกษา ได้แก่อาชีพ ครูดนตรีในระบบการศึกษา นักวิชาการทางด้านดนตรี 
• ใช้ฝีมือเป็นหลัก (เหมาะสำหรับผู้ที่เรียนดนตรีทั้งในและนอกระบบ) ส่วนใหญ่จะเป็นอาชีพทางด้านการปฏิบัติอาศัยทักษะทางดนตรี ได้แก่อาชีพ ครูดนตรีนอกระบบ นักดนตรีทั่วไป Conductor ผู้ประพันธ์เพลง นักเรียบเรียงเสียงประสาน บรรเลงดนตรีประกอบการ้องเพลง บรรเลงดนตรีประกอบการบรรเลง นักเล่นดนตรีในห้องบันทึกเสียง Sound Engineer นักดนตรีที่ผลิตอัลบั้มของตนเอง
1.2. อาชีพดนตรีแบบประยุกต์ เป็นการผมผสานระหว่างทักษะทางดนตรีและทักษะอาชีพอื่น (เหมาะสำหรับผู้ที่เรียนดนตรีนอกระบบ)

ทักษะที่ผสมกับวิชาดนตรี อาชีพ
วิชาสามัญทั่วไป นักดนตรี ครูสอนดนตรีนอกระบบ ผลิตอัลบั้ม 
นักดนตรีที่ผลิตอัลบั้มของตนเอง ผู้จัดการร้านที่เกี่ยวกับดนตรี 
พนักงานขายเครื่องดนตรี 
ธุรกิจ / นักลงทุน ธุรกิจโรงเรียนดนตรี ธุรกิจค่ายเพลง ธุรกิจร้านขายเครื่องดนตรี ธุรกิจห้องบันทึกเสียง ธุรกิจสถานที่แสดงดนตรี ธุรกิจจัดหานักดนตรีแสดงในงานต่างๆ (เช่น งานแต่งงาน งานเลี้ยงบริษัท) ธุรกิจให้เช่าชุดแสงสีเสียงสำหรับการแสดงดนตรี ธุรกิจของที่ระลึกทางดนตรี ธุรกิจห้องซ้อมดนตรี
สถาปนิก ออกแบบห้องแสดงดนตรี ออกแบบห้องบันทึกเสียง (การสะท้อนของเสียง) ออกแบบห้องซ้อมดนตรี ออกแบบห้องเรียนดนตรี (การเก็บเสียง)
การฟังเพลง ดีเจ ร้านขาย CD ผู้ปรับเสียง (Mix)
ศิลปะ ออกแบบปก CD และ Poster ดนตรี ออกแบบแสงในการแสดงดนตรี 
ถ่ายภาพการแสดงดนตรี 
ผู้กำกับ ผลิตมิวสิก VDO ควบคุมการถ่าย Concert (รู้ว่านักดนตรีคนไหน Solo)
งานฝีมือ / วิศวกร ซ่อมเครื่องดนตรี สร้างเครื่องดนตรี ออกแบบหรือประดิษฐ์เครื่องดนตรี ประดิษฐ์ของที่ระลึกทางดนตรี



2. การเรียนดนตรี 
2.1. การเรียนดนตรีในระบบ คือการเรียนดนตรีเพื่อประกอบอาชีพดนตรีแบบมืออาชีพ เปรียบเสมือนลู่วิ่งสำหรับนักแข่งที่มีเส้นชัยรออยู่ ต้องเป็นผู้ที่ตัดสินใจวิ่งสู่จุดหมาย หลายคนเข้าใจผิดว่าแค่ชอบดนตรีแล้วไม่สามารถเรียนต่อได้จึงหันมาเรียนดนตรีหรือต้องการประกอบอาชีพดนตรีในระดับทั่วไป แต่จริงๆ แล้วการเรียนแบบนี้ต้องเป็นผู้ที่รักที่จะเล่นดนตรี 
• ระดับเตรียมอุดมศึกษา (ม.4 - ม.6) เป็นการเรียนเพื่อผลิตนักเรียนที่มีคุณภาพให้กับมหาวิทยาลัยดนตรี โดยที่ผู้เรียนจะต้องมีเป้าหมายที่จะเข้ามหาวิทยาลัยดนตรีอย่างแท้จริง เนื่องจากไม่สามารถเปลี่ยนสายการศึกษาได้ ดังนั้นผู้ที่สอบเข้าเตรียมอุดมดนตรีจะต้องเตรียมความพร้อมทางดนตรีก่อนสอบเข้าอย่างน้อยในระดับ ม.1- ม.3 โดยมีพื้นฐานทางดนตรีที่สามารถเล่นดนตรีได้ มีทักษะการอ่านโน้ต มีความรู้เรื่องบันไดเสียง ส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนที่เรียนดนตรีนอกระบบควบคู่กับการเรียนสามัญ หากสนใจที่จะสอบเข้าระดับอุดมศึกษาทางดนตรี จะต้องแจ้งความจำนงกับอาจารย์ผู้สอนวิชาดนตรีของโรงเรียนหรือเรียนดนตรีนอกระบบเสริม โดยบอกจุดประสงค์ให้อาจารย์ทราบ เพื่อให้อาจารย์ให้ช่วยเสริมความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบเข้า
• ระดับปริญญาตรี เป็นการเรียนเพื่อประกอบอาชีพดนตรี
• มหาวิทยาลัย (ดนตรี) เป็นสถาบันที่มีอาจารย์ให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาเฉพาะด้าน บางสถาบันมีอาจารย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากต่างประเทศ จะต้องศึกษาว่าแต่ละสถาบันมีความโดดเด่นทางด้านใด เหมาะสมกับเป้าหมายหมายของตนรึเปล่า เนื่องจากมหาวิยาลัยมีผู้ต้องการเรียนเป็นจำนวนมาก ทางสถาบันจึงต้องคัดสรรผู้เรียนที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง ดังนั้นผู้ที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยจะต้องเตรียมความพร้อมทางดนตรีก่อนสอบเข้าอย่างน้อยในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6
• มหาวิทยาลัยราชภัฏ (ดนตรี) เป็นสถาบันอีกทางเลือกหนึ่ง สำหรับผู้เรียนที่ต้องการประกอบอาชีพดนตรี แต่มีพื้นความรู้และทักษะทางดนตรีไม่มากนัก ดังนั้นที่ผู้เรียนจะต้องขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะความรู้ทางด้านการปฏิบัติดนตรี เนื่องจากค่าเรียนไม่สูงนัก ดังนั้นควรต้องลงทุนเพิ่มในเรื่องการเรียนเสริมประสิทธิภาพทางด้านดนตรีปฏิบัติจากโรงเรียนนอกระบบ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติให้ดียิ่งขึ้น
2.2. การเรียนดนตรีนอกระบบ / โรงเรียนเอกชนนอกระบบหรือโรงเรียนวิชาชีพ 15 (2) คือการเรียนดนตรีแบบทางเลือก ผู้เรียนสามารถเลือกที่จะประกอบอาชีพดนตรี หรือต้องการเป็นผู้เล่นดนตรีแต่ประกอบอาชีพอื่นๆ ได้ 
1. ตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางด้านดนตรี ตอบสนองความต้องการในการเล่นดนตรี การร้องเพลง การแต่งเพลง จุดสังเกตุ คือ เป็นโรงเรียนดนตรีที่เปิดตามแหล่งชุมชนหรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ
2. เตรียมความพร้อมสำหรับเรียนในระบบ ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนที่ต้องการเข้าเรียนในระบบการศึกษาทางดนตรี จุดสังเกตุ คือ เป็นโรงเรียนดนตรีที่เปิดสอนการเรียนกวดวิชาทางด้านดนตรี มีหลักสูตรที่มีจุดประสงค์ในการพัฒนาผู้เรียนเข้าสู่การเรียนในระบบการศึกษาทางดนตรี
3. สร้างความพร้อมสำหรับมืออาชีพ ตอบสนองความต้องการสำหรับผู้เล่นที่ต้องการพัฒนาฝีมือในระดับมืออาชีพ จุดสังเกตุ คือ เป็นโรงเรียนดนตรีที่มีศักยภาพในการจัดหาครูเก่งๆ ระดับสากลที่เรียกว่า Profession ในระดับประเทศและต่างประเทศ หรือโรงเรียนที่เจาะลึกเฉพาะด้านโดยผู้ที่มีฝีมือทางดนตรีในระดับสูงเป็นผู้เปิดสอน